กิจกรรมนักศึกษา

กิจกรรมนักศึกษา

          ความหมาย

กิจกรรมนักศึกษา หมายถึง กิจกรรมที่สถาบันเปิดโอกาสให้นักศึกษาได้แสดงออกซึ่งความคิด ความเชื่อ ความสามารถ ความถนัดของตนเองในเรื่องใดเรื่องหนึ่งในด้านต่าง ๆ ได้แก่ กีฬา บำเพ็ญประโยชน์ ศิลปวัฒนธรรม จริยธรรม วิชาการ เป็นต้น ทั้งนี้ กิจกรรมดังกล่าวอาจจะดำเนินการในรูปแบบของชมรม กิจกรรมที่ได้รับอนุญาตจากสถาบัน โดยสถาบันจัดให้มีอาจารย์ที่ปรึกษาเพื่อให้คำแนะนำและอำนวยความสะดวก หรือกิจกรรมที่นักศึกษารวมตัวกันจัดกิจกรรมโดยได้รับอนุญาตจากสถาบัน ทั้งนี้ การเข้าร่วมกิจกรรมนักศึกษาไม่มีการให้คะแนนหรือเป็นส่วนหนึ่งของคะแนนแต่อย่างใด

เป้าหมายของงาน

ภารกิจของงานกิจกรรมนักศึกษา คือ การส่งเสริม สนับสนุนให้นักศึกษาจัดกิจกรรมนักศึกษาเพื่อเพิ่มพูนความรู้และประสบการณ์ในด้านต่าง ๆ เพื่อให้บรรลุภารกิจหลักดังกล่าว เป้าหมายของงานกิจกรรมนักศึกษา คือ การส่งเสริมสนับสนุนให้นักศึกษาร่วมกันจัดกิจกรรมที่มีปริมาณเพียงพอกับความต้องการของนักศึกษาและมีคุณภาพ

ผลลัพธ์การเรียนรู้ที่มุ่งหวัง

  1. นักศึกษารู้จักและเข้าใจความเป็นตนเอง ทราบจุดแข็ง จุดอ่อน จุดควรพัฒนา ประเด็นความสนใจของตนเอง
  2. เกิดทักษะการทำงานอย่างเป็นระบบ และนิสัยคุณภาพ
  3. เรียนรู้และเข้าใจความเป็นผู้นำ ทั้งในด้านการเป็นผู้นำและผู้ตาม
  4. เข้าใจและเกิดทักษะการทำงานแบบร่วมมือร่วมใจ
  5. เข้าใจและตระหนักถึงความเสียสละ ความรับผิดชอบต่อสังคม ความมีน้ำใจ

(ที่มา: สำนักส่งเสริมและพัฒนาศักยภาพนักศึกษา สำนักงานปลัดกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วัจัยและนวัตกรรม. 2563: 43-44)

กิจกรรมเพื่อพัฒนาศักยภาพนักศึกษา (กิจกรรมนักศึกษารายชั้นปี)

ความหมาย

กิจกรรมพัฒนานักศึกษาจัดขึ้นเพื่อเสริมสร้างศักยภาพนักศึกษาในด้านต่าง ๆ เพื่อเสริม เติมเต็มคุณลักษณะบัณฑิตที่พึงประสงค์ ตลอดจนมีพัฒนาการรอบด้านของความเป็นมนุษย์ ทั้งนี้ การเข้าร่วมของนักศึกษาให้เป็นไปตามความชอบ ความสนใจ โดยไม่มีคะแนนเข้ามาเกี่ยวข้อง

เป้าหมายของการดำเนินงาน

  1. ส่งเสริมให้นักศึกษารู้จักและเข้าใจตนเอง ตลอดจนเกิดความตระหนักว่า การเป็นบัณฑิตที่สมบูรณ์ควรได้รับการพัฒนารอบด้าน ทั้งด้านร่างกาย จิตใจ สังคม สติปัญญา บุคลิกภาพ และพัฒนาภาวะสู่ความเป็นผู้ใหญ่ที่สมบูรณ์มากขึ้น
  2. ให้นักศึกษาได้มีประสบการณ์ด้านการทำงานเป็นหมู่คณะ ความสามารถในการแสดงและแลกเปลี่ยนความคิดเห็น เรียนรู้ที่จะเข้าใจและยอมรับผู้อื่น พัฒนาความเป็นผู้นำและฝึกหัดการทำงานอย่างเป็นระบบ ฝึกการคิดและตัดสินใจอย่างมีเหตุผล
  3. ให้นักศึกษาสามารถปรับตัวกับการเรียนการสอนและสิ่งแวดล้อมต่าง ๆ ในสถาบัน นอกจากนั้นอาจเป็นหนทางในการช่วยผ่อนคลายความตึงเครียดจากการศึกษาเล่าเรียนได้ด้วย
  4. ให้นักศึกษามีบุคลิกภาพที่ดี มีความประพฤติที่ดีงาม มีความเป็นไทยและภาคภูมิใจในความมีเอกลักษณ์ของชาติ ชื่นชมในศิลปวัฒนธรรมไทย ตลอดจนประพฤติตนเป็นบุคคลที่เป็นประโยชน์ เป็นที่ต้องการของสังคม

ผลลัพธ์การเรียนรู้

  1. นักศึกษาสามารถปรับตัวและบริหารจัดการตนเองได้ในช่วงเปลี่ยนผ่านสู่การเป็นนักศึกษาในสถาบันอุดมศึกษา
  2. นักศึกษามองเห็นเส้นทางอาชีพที่ตนศึกษา และวางแผนพัฒนาตนเองเพื่อสร้างโอกาสในการประกอบอาชีพในอนาคต
  3. นักศึกษามีทักษะการเป็นผู้ประกอบการสามารถสร้างงานด้วยตนเองได้ในอนาคต
  4. นักศึกษามีบุคลิกภาพและภาวะผู้นำที่สามารถนำไปใช้ในการทำงาน
  5. นักศึกษามีทักษะการหางานที่เพียงพอ และมีความมั่นใจในการหางานทำ ภายหลังจากสำเร็จการศึกษา

(ที่มา: สำนักส่งเสริมและพัฒนาศักยภาพนักศึกษา สำนักงานปลัดกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วัจัยและนวัตกรรม. 2563: 48-49)