Category Archives: เรื่องสำคัญที่นักศึกษาต้องรู้ (คู่มือนักศึกษา)

กิจกรรมนักศึกษา

กิจกรรมนักศึกษา

          ความหมาย

กิจกรรมนักศึกษา หมายถึง กิจกรรมที่สถาบันเปิดโอกาสให้นักศึกษาได้แสดงออกซึ่งความคิด ความเชื่อ ความสามารถ ความถนัดของตนเองในเรื่องใดเรื่องหนึ่งในด้านต่าง ๆ ได้แก่ กีฬา บำเพ็ญประโยชน์ ศิลปวัฒนธรรม จริยธรรม วิชาการ เป็นต้น ทั้งนี้ กิจกรรมดังกล่าวอาจจะดำเนินการในรูปแบบของชมรม กิจกรรมที่ได้รับอนุญาตจากสถาบัน โดยสถาบันจัดให้มีอาจารย์ที่ปรึกษาเพื่อให้คำแนะนำและอำนวยความสะดวก หรือกิจกรรมที่นักศึกษารวมตัวกันจัดกิจกรรมโดยได้รับอนุญาตจากสถาบัน ทั้งนี้ การเข้าร่วมกิจกรรมนักศึกษาไม่มีการให้คะแนนหรือเป็นส่วนหนึ่งของคะแนนแต่อย่างใด

เป้าหมายของกิจกรรมนักศึกษา

ภารกิจของงานกิจกรรมนักศึกษา คือ การส่งเสริม สนับสนุนให้นักศึกษาจัดกิจกรรมนักศึกษาเพื่อเพิ่มพูนความรู้และประสบการณ์ในด้านต่าง ๆ เพื่อให้บรรลุภารกิจหลักดังกล่าว เป้าหมายของงานกิจกรรมนักศึกษา คือ การส่งเสริมสนับสนุนให้นักศึกษาร่วมกันจัดกิจกรรมที่มีปริมาณเพียงพอกับความต้องการของนักศึกษาและมีคุณภาพ

ผลลัพธ์การเรียนรู้ที่มุ่งหวัง

  1. นักศึกษารู้จักและเข้าใจความเป็นตนเอง ทราบจุดแข็ง จุดอ่อน จุดควรพัฒนา ประเด็นความสนใจของตนเอง
  2. เกิดทักษะการทำงานอย่างเป็นระบบ และนิสัยคุณภาพ
  3. เรียนรู้และเข้าใจความเป็นผู้นำ ทั้งในด้านการเป็นผู้นำและผู้ตาม
  4. เข้าใจและเกิดทักษะการทำงานแบบร่วมมือร่วมใจ
  5. เข้าใจและตระหนักถึงความเสียสละ ความรับผิดชอบต่อสังคม ความมีน้ำใจ

(ที่มา: สำนักส่งเสริมและพัฒนาศักยภาพนักศึกษา สำนักงานปลัดกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วัจัยและนวัตกรรม. 2563: 43-44)

กิจกรรมเพื่อพัฒนาศักยภาพนักศึกษา (กิจกรรมนักศึกษารายชั้นปี)

ความหมาย

กิจกรรมพัฒนานักศึกษาจัดขึ้นเพื่อเสริมสร้างศักยภาพนักศึกษาในด้านต่าง ๆ เพื่อเสริม เติมเต็มคุณลักษณะบัณฑิตที่พึงประสงค์ ตลอดจนมีพัฒนาการรอบด้านของความเป็นมนุษย์ ทั้งนี้ การเข้าร่วมของนักศึกษาให้เป็นไปตามความชอบ ความสนใจ โดยไม่มีคะแนนเข้ามาเกี่ยวข้อง

 เป้าหมายของการดำเนินงาน

  1. ส่งเสริมให้นักศึกษารู้จักและเข้าใจตนเอง ตลอดจนเกิดความตระหนักว่า การเป็นบัณฑิตที่สมบูรณ์ควรได้รับการพัฒนารอบด้าน ทั้งด้านร่างกาย จิตใจ สังคม สติปัญญา บุคลิกภาพ และพัฒนาภาวะสู่ความเป็นผู้ใหญ่ที่สมบูรณ์มากขึ้น
  2. ให้นักศึกษาได้มีประสบการณ์ด้านการทำงานเป็นหมู่คณะ ความสามารถในการแสดงและแลกเปลี่ยนความคิดเห็น เรียนรู้ที่จะเข้าใจและยอมรับผู้อื่น พัฒนาความเป็นผู้นำและฝึกหัดการทำงานอย่างเป็นระบบ ฝึกการคิดและตัดสินใจอย่างมีเหตุผล
  3. ให้นักศึกษาสามารถปรับตัวกับการเรียนการสอนและสิ่งแวดล้อมต่าง ๆ ในสถาบัน นอกจากนั้นอาจเป็นหนทางในการช่วยผ่อนคลายความตึงเครียดจากการศึกษาเล่าเรียนได้ด้วย
  4. ให้นักศึกษามีบุคลิกภาพที่ดี มีความประพฤติที่ดีงาม มีความเป็นไทยและภาคภูมิใจในความมีเอกลักษณ์ของชาติ ชื่นชมในศิลปวัฒนธรรมไทย ตลอดจนประพฤติตนเป็นบุคคลที่เป็นประโยชน์ เป็นที่ต้องการของสังคม

ผลลัพธ์การเรียนรู้

  1. นักศึกษาสามารถปรับตัวและบริหารจัดการตนเองได้ในช่วงเปลี่ยนผ่านสู่การเป็นนักศึกษาในสถาบันอุดมศึกษา
  2. นักศึกษามองเห็นเส้นทางอาชีพที่ตนศึกษา และวางแผนพัฒนาตนเองเพื่อสร้างโอกาสในการประกอบอาชีพในอนาคต
  3. นักศึกษามีทักษะการเป็นผู้ประกอบการสามารถสร้างงานด้วยตนเองได้ในอนาคต
  4. นักศึกษามีบุคลิกภาพและภาวะผู้นำที่สามารถนำไปใช้ในการทำงาน
  5. นักศึกษามีทักษะการหางานที่เพียงพอ และมีความมั่นใจในการหางานทำ ภายหลังจากสำเร็จการศึกษา

(ที่มา: สำนักส่งเสริมและพัฒนาศักยภาพนักศึกษา สำนักงานปลัดกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วัจัยและนวัตกรรม. 2563: 48-49) 

 หลักเกณฑ์การเข้าร่วมกิจกรรมนักศึกษา

          เพื่อให้การพิจารณาเกียรติและศักดิ์ของนักศึกษาตามประกาศมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี เรื่อง การพิจารณาเกียรติและศักดิ์ของนักศึกษา เป็นไปด้วยความเรียบร้อย ประกอบกับมหาวิทยาลัยมีการส่งเสริมการปฏิบัติกิจกรรมนักศึกษาเพื่อให้นักศึกษาได้เกิดการเรียนรู้โดยการปฏิบัติ สร้างทักษะทางชีวิต ทักษะการบริหารจัดการ และทักษะการเข้าร่วมสังคม สำเร็จเป็นบัณฑิตที่เก่งและดี ตามวิสัยทัศน์และตามคุณลักษณะบัณฑิตที่พึงประสงค์ของมหาวิทยาลัย

          จึงกำหนดชั่วโมงการเข้าร่วมกิจกรรมนักศึกษา ให้นักศึกษาเข้าร่วมกิจกรรมไม่น้อยกว่าปีการศึกษาละ 25 ชั่วโมง ตลอดหลักสูตรที่ได้ศึกษาในมหาวิทยาลัย (ที่มา:ประกาศมหาวิทยาลัย เรื่อง จำนวนชั่วโมงการเข้าร่วมกิจกรรมนักศึกษา ลงวันที่ 3 ธันวาคม 2558)

 

วินัยนักศึกษา

วินัยนักศึกษา

งานด้านวินัยนักศึกษา มีหน้าที่ส่งเสริมและสนับสนุนให้นักศึกษามีวินัย รู้จักหน้าที่ความรับผิดชอบของตน ในขณะเดียวกันก็ต้องเคารพและไม่ละเมิดสิทธิของผู้อื่น แสดงออกอย่างเหมาะสมกับสภาพสังคมในปัจจุบันที่มีความหลากหลายทางวัฒนธรรม สามารถปรับตัวให้เข้าสภาพแวดล้อมได้อย่างกลมกลืน มีความตระหนักรู้ถึงพิษภัยและอันตรายจากสิ่งไม่พึงประสงค์ อาทิ สิ่งเสพติด การพนันและอบายมุข โดยมีการดำเนินงานอย่างเป็นระบบตามขั้นตอน กระบวนการ ที่ถูกต้องชัดเจน ภายใต้ข้อบังคับ ระเบียบ ประกาศต่างๆของมหาวิทยาลัย บนพื้นฐานของความเป็นธรรมและเสมอภาคเท่าเทียม

ข้อบังคับมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรีว่าด้วย วินัยนักศึกษาและผู้เรียนรู้พ.ศ. 2566

  1. นักศึกษาและผู้เรียนรู้ต้องปฏิบัติตามข้อบังคับ ระเบียบ คำสั่ง ประกาศ ของมหาวิทยาลัยทุกประการ และต้องยึดถือหลักเกียรติและศักดิ์ (Code of Honor) ผู้ใดฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามให้ถือว่าผู้นั้นกระทำผิด จักต้องได้รับโทษตามที่กำหนดไว้ในข้อบังคับนี้ หรือข้อบังคับอื่นของมหาวิทยาลัย
  2. นักศึกษาและผู้เรียนรู้ต้องปฏิบัติตามข้อกำหนดด้านคุณธรรม จริยธรรม และจรรยาบรรณ ไม่ทุจริตทางวิชาการ ไม่แสวงหาผลประโยชน์อันไม่ชอบธรรมด้านวิชาการโดยเคร่งครัด
  3. นักศึกษาและผู้เรียนรู้ต้องปฏิบัติตามศีลธรรม วัฒนธรรมอันดีงามของสังคมไทย ไม่นำขนบธรรมเนียมหรือวิธีการอันไม่เหมาะสมมาปฏิบัติ และต้องประพฤติตนเป็นสุภาพชน รักษาวินัยของตนเอง รักษาชื่อเสียง เกียรติคุณและประโยชน์ของมหาวิทยาลัย ไม่ประพฤติในสิ่งที่อาจนำมาซึ่งความเสื่อมเสียแก่มหาวิทยาลัย ตนเองและผู้อื่น ไม่ว่าภายในหรือภายนอกมหาวิทยาลัย
  4. นักศึกษาและผู้เรียนรู้ต้องรักษาไว้ซึ่งความสงบเรียบร้อย และเกียรติของมหาวิทยาลัย
    ไม่เป็นตัวการยุยง หรือเป็นผู้ก่อเหตุความไม่สงบ ไม่รบกวนความสงบเรียบร้อยปกติสุขของผู้อื่น ไม่ก่อเหตุทะเลาะวิวาททั้งภายในและภายนอกมหาวิทยาลัย
  5. นักศึกษาและผู้เรียนรู้ต้องปฏิบัติตนเป็นแบบอย่างที่ดีของสังคม ทั้งภายในและภายนอกมหาวิทยาลัย โดยประพฤติ ปฏิบัติเป็นแบบอย่างที่ดี มีความรับผิดชอบต่อสังคมส่วนรวม ไม่สร้างความเดือดร้อนรำคาญให้แก่ผู้อื่น
  6. นักศึกษาและผู้เรียนรู้ต้องไม่กระทำความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา กฎหมายแพ่ง กฎหมายอื่นที่รัฐกำหนดไว้ หรือกระทำการทุจริตใด ๆ อันเป็นการเสื่อมเสียแก่มหาวิทยาลัย
  7. นักศึกษาและผู้เรียนรู้ต้องประพฤติปฏิบัติตนต่ออาจารย์ เจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติหน้าที่โดยชอบด้วยความเป็นสุภาพชน ปฏิบัติตามคำแนะนำหรือคำตักเตือนที่เหมาะสม ไม่ใช้กิริยาหรือวาจาที่ไม่สุภาพ
    ให้เกียรติซึ่งกันและกัน
  8. นักศึกษาและผู้เรียนรู้ต้องแต่งกายสุภาพ เรียบร้อย ตามระเบียบ คำสั่งหรือประกาศใด ๆ ของมหาวิทยาลัยหรือตามที่หน่วยงานกำหนด เมื่ออยู่ภายในมหาวิทยาลัย เข้าชั้นเรียน ติดต่องานหรือใช้บริการของหน่วยงานภายในมหาวิทยาลัย
  9. นักศึกษาและผู้เรียนรู้ต้องมีความซื่อสัตย์สุจริต ไม่รายงานเท็จ หรือแจ้งความเท็จ ไม่ปลอมแปลงเอกสารไม่ว่าจะทั้งหมดหรือบางส่วน ไม่ใช้เอกสารปลอม ไม่ปลอมลายมือชื่อของผู้อื่น
  10. นักศึกษาและผู้เรียนรู้ต้องพกบัตรประจำตัวเพื่อแสดงตนในการติดต่อขอรับบริการต่าง ๆ
    และพร้อมจะแสดงบัตรประจำตัวได้ทันที เมื่ออาจารย์หรือเจ้าหน้าที่ของมหาวิทยาลัยขอตรวจสอบ เมื่อมีเหตุอันสมควร
  11. นักศึกษาและผู้เรียนรู้ต้องไม่ใช้เครื่องมือทางอิเล็กทรอนิกส์ใด ๆ เพื่อกระทำความผิดทางสื่อละเมิดลิขสิทธิ์หรือมีไว้ในครอบครองซึ่งสื่อ รูปภาพ สิ่งพิมพ์ สิ่งวาด สิ่งเขียน วิดีโอหรือสื่ออื่นใด ที่อาจทำให้เกิดความเสียหายต่อชื่อเสียงของผู้อื่น สังคม หรือของมหาวิทยาลัย หรือเสื่อมเสียต่อศีลธรรมขนบธรรมเนียมประเพณี วัฒนธรรม
  12. นักศึกษาและผู้เรียนรู้ต้องใช้สื่อเทคโนโลยี หรือสื่อสังคมออนไลน์อย่างมีวิจารณญาณ
    โดยไม่กระทำการใด ๆ เช่น การเข้าถึงระบบคอมพิวเตอร์โดยมิชอบ ลักลอบ เจาะระบบขโมยข้อมูล
    แก้ไข สำเนาหรือโอนถ่ายข้อมูล หรือกระทำการอื่นใดซึ่งอาจทำให้ระบบคอมพิวเตอร์ของมหาวิทยาลัย หน่วยงานหรือของผู้อื่นเสียหาย รวมถึงการส่งข้อความก่อความรำคาญ (สแปม) ตัดต่อหรือนำภาพผู้อื่นมาเผยแพร่โดยไม่ได้รับอนุญาต และไม่ทำการละเมิดลิขสิทธิ์ผู้ใด ไม่ว่าผลงาน ข้อความ เพลง รูปภาพ หรือวิดีโอ
  13. นักศึกษาและผู้เรียนรู้ต้องไม่เล่นการพนัน หรือมีส่วนเกี่ยวข้องสนับสนุนการพนันใดๆ
  14. นักศึกษาและผู้เรียนรู้และผู้เรียนรู้ต้องไม่ครอบครองอาวุธ วัตถุระเบิด หรือสิ่งที่สามารถใช้เป็นอาวุธ หรือใช้แทนเป็นอาวุธ หรือสิ่งอันตรายร้ายแรงเข้ามาในบริเวณมหาวิทยาลัย
  15. นักศึกษาและผู้เรียนรู้และผู้เรียนรู้ต้องไม่สูบบุหรี่หรือบุหรี่ไฟฟ้าภายในมหาวิทยาลัย เว้นแต่เป็นการสูบบุหรี่ธรรมดาที่ไม่ใช่บุหรี่ไฟฟ้าในสถานที่จัดไว้สำหรับสูบบุหรี่เป็นการเฉพาะ
  16. นักศึกษาและผู้เรียนรู้ต้องไม่ดื่มสุรา ของมึนเมา เสพยาหรือสารเสพติดใด ๆ จนเป็นเหตุให้เสื่อมเสียแก่ตนเองผู้อื่น และมหาวิทยาลัย
  17. นักศึกษาและผู้เรียนรู้และผู้เรียนรู้ต้องไม่กระทำตนให้เป็นผู้มีหนี้สินล้นพ้นตัว จนเกิดความเสียหายแก่ผู้อื่น หรือมหาวิทยาลัย
  18. นักศึกษาและผู้เรียนรู้และผู้เรียนรู้ผู้ใดเป็นผู้ก่อหรือมีส่วนเกี่ยวข้องเป็นคดีถึงเจ้าพนักงานฝ่ายปกครอง หรือตำรวจ  ต้องรีบแจ้งต่ออาจารย์ที่ปรึกษาหรือสำนักงานกิจการนักศึกษาของมหาวิทยาลัยให้ทราบทันที

          กระทำการดังต่อไปนี้ถือว่ากระทำผิดวินัยอย่างร้ายแรง

    1. กระทำการใด ๆ โดยจงใจหรือเจตนาทำให้ทรัพย์สินมหาวิทยาลัยหรือของผู้อื่นเสียหาย
    2. กระทำการใด ๆ ที่เป็นการกระทำความผิดเกี่ยวกับทรัพย์ที่มีโทษทางอาญา   
    3. ครอบครองหรือนำอาวุธปืน วัตถุระเบิด สิ่งที่ใช้เป็นอาวุธหรือใช้แทนอาวุธหรือสิ่งอันตรายร้ายแรง เข้ามาบริเวณภายในมหาวิทยาลัย ซึ่งอาจเป็นเหตุให้เกิดอันตรายแก่ชีวิตและทรัพย์สินของผู้อื่น
    4. กระทำการลามก อนาจาร พฤติกรรมแอบถ่ายภาพหรือกระทำความผิดเกี่ยวกับเพศหรือประพฤติผิดศีลธรรมอันดี อันเป็นเหตุให้เสื่อมเสียแก่มหาวิทยาลัยอย่างร้ายแรง
    5. ทำร้ายร่างกายผู้อื่นเป็นเหตุให้ได้รับอันตรายบาดเจ็บสาหัส หรือถึงแก่ความตาย หรือ  เป็นเหตุให้เสื่อมเสียแก่มหาวิทยาลัย
    6. กระทำความผิดอาญาจนได้รับโทษจำคุก หรือโทษที่หนักกว่าโทษจำคุกโดยมีคำพิพากษาถึงที่สุด ให้จำคุก โดยไม่คำนึงถึงว่าจะมีการรอลงโทษหรือรอกำหนดโทษ เว้นแต่เป็นโทษที่  กระทำโดยประมาทหรือความผิดลหุโทษ
    7. เป็นตัวการ ผู้ใช้ ผู้สนับสนุน ให้เกิดความวุ่นวายขึ้นในมหาวิทยาลัย หรือก่อเหตุ   ทะเลาะวิวาท สร้างความแตกสามัคคีระหว่างนักศึกษาและผู้เรียนรู้และผู้เรียนรู้ เป็นเหตุให้เสื่อมเสียต่อชื่อเสียงของมหาวิทยาลัย
    8. กระทำการใด ๆ ที่เป็นการกระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติดให้โทษที่มีโทษทางอาญา
    9. ดื่มหรือนำเครื่องดื่มแอลกอฮอล์เข้ามาภายในบริเวณมหาวิทยาลัย เว้นแต่ได้รับอนุญาตเพื่อนำมาใช้ในการเรียนการสอนหรือการทดลองทางวิทยาศาสตร์
    10. เล่นการพนัน สนับสนุนหรือมีส่วนเกี่ยวข้องกับการพนันทุกชนิด
    11. จัดกิจกรรมรับน้องที่ขัดต่อประกาศของหน่วยงานภาครัฐหรือของมหาวิทยาลัย
    12. จัดกิจกรรมที่เป็นการคุกคามเสรีภาพของนักศึกษาและผู้เรียนรู้และผู้เรียนรู้ ขัดกับหลักศีลธรรมจริยธรรม และวัฒนธรรมอันดีของสังคมไทย หรือกระทำการพิจารณาลงโทษนักศึกษาและผู้เรียนรู้ด้วยตนเอง
    13. รายงานเท็จ แจ้งความเท็จ ปลอมลายมือชื่อผู้อื่น ปลอมเอกสารหรือแก้ไขข้อความใน   เอกสารที่แท้จริงไม่ว่าจะทั้งหมดหรือบางส่วน หรือใช้เอกสารปลอมนั้นเป็น หลักฐานต่อมหาวิทยาลัย หรือหน่วยงานอื่น รวมถึงการคัดลอกผลงานที่อาจก่อให้เกิด   ความเสียหายแก่มหาวิทยาลัยอย่างร้ายแรง
    14. นำเข้าข้อมูลสู่ระบบคอมพิวเตอร์ ส่งต่อเผยแพร่ข้อมูลอันเป็นเท็จ หรือภาพที่เกิดจากการสร้างขึ้น ตัดต่อ หรือดัดแปลง หรือทำลาย แก้ไข เปลี่ยนแปลง ซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์    ของผู้อื่นโดยมิชอบ
    15. จัดทำ เผยแพร่ หรือมีไว้ครอบครองซึ่งสื่อ สิ่งพิมพ์ สิ่งวาด หรือสิ่งเขียน หรือสื่ออิเล็กทรอนิกส์ หรือกระทำการใด อันอาจก่อให้เกิดความเสียหายแก่มหาวิทยาลัยอย่างร้ายแรง กระทำการใด ๆ ที่ก่อให้เกิดความเสียหายอย่างร้ายแรงต่อระบบสารสนเทศของมหาวิทยาลัย
    16. ทุจริต หรือกระทำการใดซึ่งเป็นการทุจริตในการสอบ หรือการวัดผลและประเมินผลการศึกษา
    17. จงใจหรือเจตนากระทำการ คัดลอกผลงาน เลียนแบบงานใด ๆ ทำซ้ำ นำข้อมูลเนื้อหา   มาเป็นวิทยานิพนธ์ หรือการค้นคว้าอิสระ งานวิจัย บทความ ผลงานทางวิชาการอื่นๆ  เพื่อประโยชน์ของตนโดยมิชอบ รวมถึงการสร้างข้อมูลเท็จ การปลอมแปลงหรือ   ดัดแปลงข้อมูล การพิมพ์ซ้ำผลงานของตัวเอง การสมรู้ร่วมคิดเพื่อทำซ้ำ ดัดแปลงเผยแพร่ต่อสาธารณชน ขโมยผลงาน การประดิษฐ์หรือ บิดเบือนเนื้อหาต้นฉบับให้ต่างจากเดิม
    18. การแอบอ้างชื่อบุคคลอื่น ชื่อมหาวิทยาลัยไปดำเนินการอย่างหนึ่งอย่างใดโดยไม่ได้รับอนุญาตส่งผลให้บุคคลนั้นและมหาวิทยาลัยได้รับความเสียหาย
    19. กระทำการใด ๆ อันได้ชื่อว่าเป็นผู้ประพฤติชั่วอย่างร้ายแรง
    20. กระทำการใด ๆ ที่นำมาซึ่งความเสื่อมเสียแก่เกียรติศักดิ์ความเป็นนักศึกษาและผู้เรียนรู้ และผู้เรียนรู้ของมหาวิทยาลัยและเป็นเหตุให้เสื่อมเสียแก่มหาวิทยาลัยอย่างร้ายแรง

        โทษวินัยมี 7 สถาน

    1. ตักเตือนด้วยวาจา หรือเป็นลายลักษณ์อักษร
    2. ตัดคะแนนความประพฤติ
    3. บำเพ็ญประโยชน์
    4. ภาคทัณฑ์
    5. ตัดสิทธิ์เข้าสอบในทุกรายวิชาหรือบางรายวิชา เฉพาะกรณีความผิดทางวิชาการ
    6. ให้พักการศึกษา หรือยับยั้งการอนุมัติให้ปริญญา
    7. ให้พ้นสภาพการเป็นนักศึกษา

      * หมายเหตุ : หากถูกตัดคะแนนความประพฤติเกินกว่า 20 คะแนนต่อปีการศึกษา จะถูกให้พักการศึกษาในภาคการศึกษาถัดไป

        การอุทธรณ์

  1. ให้ยื่นอุทธรณ์ต่อคณะกรรมการอุทธรณ์วินัยนักศึกษาและผู้เรียนรู้ ภายใน 30 วัน นับแต่วันทราบคำสั่งลงโทษ
  2. การอุทธรณ์ให้ทำเป็นหนังสือแสดงข้อเท็จจริงและเหตุผลในการอุทธรณ์ให้เห็นว่าตนเองถูกลงโทษโดยไม่ถูกต้อง ไม่เหมาะสมหรือไม่เป็นธรรมอย่างใด พร้อมทั้งลงลายมือชื่อผู้อุทธรณ์ การอุทธรณ์ให้อุทธรณ์ได้สำหรับตนเองเท่านั้น จะอุทธรณ์แทนคนอื่นหรือมอบหมายให้คนอื่นอุทธรณ์แทนไม่ได้  ในการอุทธรณ์ ถ้าผู้อุทธรณ์ประสงค์จะแถลงการณ์ด้วยวาจาในชั้นพิจารณาของคณะกรรมการอุทธรณ์วินัยนักศึกษาและผู้เรียนรู้ ให้แสดงความประสงค์ไว้ในหนังสืออุทธรณ์ หรือจะทำเป็นหนังสือแจ้งต่างหากก็ได้แต่ต้องยื่นหรือส่งหนังสือดังกล่าวนั้นต่อประธานกรรมการอุทธรณ์วินัยนักศึกษาและผู้เรียนรู้โดยตรง ทั้งนี้ต้องดำเนินการก่อนมีคำวินิจฉัย
  3. ให้ยื่นหนังสืออุทธรณ์ผ่านสำนักงานกิจการนักศึกษา และให้สำนักงานกิจการนักศึกษาส่งเรื่องให้คณะกรรมการอุทธรณ์วินัยนักศึกษาและผู้เรียนรู้ภายใน 3 วันทำการนับแต่ได้รับหนังสืออุทธรณ์

การแต่งกาย

เครื่องแต่งกายนักศึกษาในงานพิธี

เครื่องแต่งกายนักศึกษาในงานพิธี ประกอบด้วย

 นักศึกษาชาย

  1. ผม ทรงสุภาพ สีธรรมชาติ
  2. เสื้อเชิ้ตแขนยาว สีขาวไม่มีลวดลาย สวมทับชายเสื้อไว้ในกางเกง
  3. กางเกงขายาว แบบสุภาพ สีกรมท่าไม่มีลวดลาย
  4. เนคไท สีกรมท่า ปักตราสัญลักษณ์ประจำมหาวิทยาลัย เฉพาะส่วนพระมหามงกุฎ
  5. เข็มขัดหนัง สีดำ หัวเข็มขัดรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า เช่นเดียวกับเครื่องแต่งกายนักศึกษาปกติ
  6. รองเท้าหนังหุ้มส้น สีดำ ถุงเท้าสีดำหรือสีกรมท่า

นักศึกษาหญิง

  1. ผม ทรงสุภาพ สีธรรมชาติ
  2. เสื้อ ติดกระดุมที่คอเสื้อ
  3. กระโปรง สีกรมท่า แบบสุภาพ ทรงตรง ไม่อัดพลีท ผ่าหลังสาบทับซ้อน ไม่มีลวดลาย ความยาวคลุมเข่า
  4. เข็มขัดหนัง สีดำ หัวเข็มขัดรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า เช่นเดียวกับเครื่องแต่งกายนักศึกษาปกติ
  5. รองเท้าหนังหุ้มส้น สีดำ ใช้ประกอบกับถุงน่องสีเนื้อ

เครื่องแต่งกายนักศึกษาภาคปฏิบัติ

นักศึกษาชาย

  1. เสื้อ ให้ใช้คอปกฮาวาย แขนสั้นยาวเพียงศอกไม่ผ่าปลายแขน ความยาวของเสื้อถึงบริเวณสะโพก ทำจากผ้าชนิดหนา มีกระเป๋าแบบจีบแตก 3 ใบด้านบนซ้าย 1 ใบ และด้านล่าง 2 ใบ ด้านหลังเสื้อจับจีบคู่มีสายคาดยาวตลอด การสวมใส่ติดกระดุมเรียบร้อย สีของเสื้อให้เป็นไปตามที่คณะและภาควิชากำหนด เสื้อตัวในให้เป็นเสื้อเชิ้ตหรือเสื้อโปโล สีสุภาพ

          – ปักเครื่องหมายมหาวิทยาลัย เฉพาะส่วนพระมหามงกุฎ และด้านล่างเครื่องหมายมีชื่อมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี ใต้ชื่อมหาวิทยาลัยปักคณะที่นักศึกษาสังกัด ที่หน้าอกด้านขวา

          – ปักชื่อ-นามสกุลนักศึกษา เหนือกระเป๋าเสื้อด้านซ้ายให้มองเห็นชัดเจน สีของไหมให้เป็น ไปตามที่ภาควิชากำหนด (ห้ามมิให้ปักสัญลักษณ์อื่นใดนอกเหนือจากที่มหาวิทยาลัยกำหนด)

  1. กางเกง กางเกงขายาว สีและแบบสุภาพ (ห้ามใช้ผ้ายีนส์)
  2. เข็มขัด เช่นเดียวกับเครื่องแต่งกายนักศึกษาปกติ
  3. รองเท้า สีและแบบสุภาพหรือตามแบบที่คณะหรือภาควิชากำหนด ใช้ร่วมกับถุงเท้าสีสุภาพ

นักศึกษาหญิง

  1. เสื้อ ให้เป็นเช่นเดียวกับของนักศึกษาชาย
  2. กระโปรงหรือกางเกง เป็นไปตามลักษณะการเรียนภาคปฏิบัติตามที่ภาควิชากำหนดไว้ ตามความเหมาะสม การสวมใส่เรียบร้อย (ห้ามใช้ผ้ายีนส์)
  3. เข็มขัด เช่นเดียวกับเครื่องแต่งกายนักศึกษาปกติ
  4. รองเท้า สีและแบบสุภาพหรือตามแบบที่คณะหรือภาควิชากำหนด ใช้ร่วมกับถุงเท้าสีสุภาพ

เครื่องแต่งกายนักศึกษาปกติ

เครื่องแต่งกายนักศึกษาปกติ ระดับปริญญาตรี ประกอบด้วย

 นักศึกษาชาย

  1. ผม ทรงสุภาพ สีธรรมชาติ
  2. เสื้อเชิ้ตแขนสั้นหรือแขนยาว สีขาว ไม่มีลวดลาย สวมทับชายเสื้อไว้ในกางเกง
  3. กางเกงขายาว สีดำ สีน้ำเงินเข้ม หรือสีกรมท่า ไม่มีลวดลาย แบบสุภาพ
  4. เข็มขัดหนัง สีดำหรือสีน้ำตาล หัวเข็มขัดรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า โลหะรมดำ มีลายดุนนูนตราสัญลักษณ์ ประจำมหาวิทยาลัย เฉพาะส่วนพระมหามงกุฎ
  5. รองเท้าหุ้มส้น สีและแบบสุภาพ ใช้ประกอบกับถุงเท้าสีสุภาพ

 นักศึกษาหญิง

  1. ผม ทรงสุภาพ สีธรรมชาติ
  2. เสื้อเชิ้ตแขนสั้น สีขาวไม่มีลวดลาย ตัวเสื้อผ่าหน้าตลอด ติดกระดุมโลหะตราสัญลักษณ์ประจำมหาวิทยาลัย รูปแบบตามที่มหาวิทยาลัยกำหนด
  3. กระโปรง สีดำ สีน้ำเงินเข้ม หรือสีกรมท่า แบบสุภาพ ความยาวคลุมเข่า
  4. เข็มขัดหนัง สีดำหรือสีน้ำตาล หัวเข็มขัดรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า โลหะรมดำ มีลายดุนนูนตราสัญลักษณ์ประจำมหาวิทยาลัย เฉพาะส่วนพระมหามงกุฎ
  5. รองเท้าหุ้มส้น สีและแบบสุภาพ

เครื่องแต่งกายนักศึกษาปกติ ระดับบัณฑิตศึกษา ประกอบด้วย

 นักศึกษาชาย    

  1. ผม ทรงสุภาพ สีธรรมชาติ
  2. เสื้อเชิ้ตแขนสั้นหรือแขนยาว สีและลายสุภาพ สวมทับชายเสื้อไว้ในกางเกง หรือเสื้อสูทสีสุภาพ
  3. กางเกงขายาว สีและแบบสุภาพ ไม่มีลวดลาย
  4. รองเท้าหุ้มส้น สีและแบบสุภาพ ใช้ประกอบกับถุงเท้าสีสุภาพ

นักศึกษาหญิง

  1. ผม ทรงสุภาพ สีธรรมชาติ
  2. เสื้อเชิ้ตหรือเสื้อมีปก แขนสั้นหรือแขนยาว สวมทับชายเสื้อไว้ในกางเกงหรือกระโปรง
  3. กระโปรง สีและแบบสุภาพ ความยาวคลุมเข่า หรือกางเกงขายาว
  4. รองเท้าหุ้มส้น แบบและสีสุภาพ

ซื้อชุดนักศึกษาเเละเครื่องหมายต่างๆ ได้ที่ ศูนย์หนังสือพระจอมเกล้าธนบุรี

โทรศัพท์ 02-470-8166, 02-872-9088
อีเมล์ bookstore@kmutt.ac.th
Facebook kmuttbookstore

ระเบียบว่าด้วยการศึกษา

ระเบียบมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี

RULES & REGULATION (English Version)

Diversity Policy

Diversity Policy

      KMUTT actively advocates the principle of diversity. We believe that all members of our KMUTT community should reflect the diversity of gender, race, national origin, socio-economic background, urban and rural geographic origin, culture, ethnicity, disability, religion, gender identity, and sexual orientation. Thus, we will equally treat everyone to ensure that diversity is maintained and further developed.

นโยบายด้านความเท่าเทียมและความหลากหลายในสังคม มจธ.
 
       มุ่งมั่นในการส่งเสริมความเท่าเทียมและความหลากหลายในสังคม มจธ. เปิดรับความหลากหลายในสังคมอย่างมุ่งมั่น ทั้งด้านเพศ เชื้อชาติ สัญชาติ ฐานะทางเศรษฐกิจและสังคม ต้นกำเนิด วัฒนธรรม ชาติพันธุ์ ความทุพพลภาพ ศาสนา การระบุเพศสภาพ
รสนิยมทางเพศ เรายืนหยัดจะปฏิบัติกับทุกคนอย่างเป็นธรรมและเป็นกลาง เพื่อให้มั่นใจว่าความเท่าเทียมและความหลากหลายในสังคม มจธ. จะได้รับการพัฒนาให้ดียิ่งขึ้นต่อไป