Author Archives: Admin

กิจกรรมนักศึกษา

กิจกรรมนักศึกษา

          ความหมาย

กิจกรรมนักศึกษา หมายถึง กิจกรรมที่สถาบันเปิดโอกาสให้นักศึกษาได้แสดงออกซึ่งความคิด ความเชื่อ ความสามารถ ความถนัดของตนเองในเรื่องใดเรื่องหนึ่งในด้านต่าง ๆ ได้แก่ กีฬา บำเพ็ญประโยชน์ ศิลปวัฒนธรรม จริยธรรม วิชาการ เป็นต้น ทั้งนี้ กิจกรรมดังกล่าวอาจจะดำเนินการในรูปแบบของชมรม กิจกรรมที่ได้รับอนุญาตจากสถาบัน โดยสถาบันจัดให้มีอาจารย์ที่ปรึกษาเพื่อให้คำแนะนำและอำนวยความสะดวก หรือกิจกรรมที่นักศึกษารวมตัวกันจัดกิจกรรมโดยได้รับอนุญาตจากสถาบัน ทั้งนี้ การเข้าร่วมกิจกรรมนักศึกษาไม่มีการให้คะแนนหรือเป็นส่วนหนึ่งของคะแนนแต่อย่างใด

เป้าหมายของงาน

ภารกิจของงานกิจกรรมนักศึกษา คือ การส่งเสริม สนับสนุนให้นักศึกษาจัดกิจกรรมนักศึกษาเพื่อเพิ่มพูนความรู้และประสบการณ์ในด้านต่าง ๆ เพื่อให้บรรลุภารกิจหลักดังกล่าว เป้าหมายของงานกิจกรรมนักศึกษา คือ การส่งเสริมสนับสนุนให้นักศึกษาร่วมกันจัดกิจกรรมที่มีปริมาณเพียงพอกับความต้องการของนักศึกษาและมีคุณภาพ

ผลลัพธ์การเรียนรู้ที่มุ่งหวัง

  1. นักศึกษารู้จักและเข้าใจความเป็นตนเอง ทราบจุดแข็ง จุดอ่อน จุดควรพัฒนา ประเด็นความสนใจของตนเอง
  2. เกิดทักษะการทำงานอย่างเป็นระบบ และนิสัยคุณภาพ
  3. เรียนรู้และเข้าใจความเป็นผู้นำ ทั้งในด้านการเป็นผู้นำและผู้ตาม
  4. เข้าใจและเกิดทักษะการทำงานแบบร่วมมือร่วมใจ
  5. เข้าใจและตระหนักถึงความเสียสละ ความรับผิดชอบต่อสังคม ความมีน้ำใจ

(ที่มา: สำนักส่งเสริมและพัฒนาศักยภาพนักศึกษา สำนักงานปลัดกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วัจัยและนวัตกรรม. 2563: 43-44)

กิจกรรมเพื่อพัฒนาศักยภาพนักศึกษา (กิจกรรมนักศึกษารายชั้นปี)

ความหมาย

กิจกรรมพัฒนานักศึกษาจัดขึ้นเพื่อเสริมสร้างศักยภาพนักศึกษาในด้านต่าง ๆ เพื่อเสริม เติมเต็มคุณลักษณะบัณฑิตที่พึงประสงค์ ตลอดจนมีพัฒนาการรอบด้านของความเป็นมนุษย์ ทั้งนี้ การเข้าร่วมของนักศึกษาให้เป็นไปตามความชอบ ความสนใจ โดยไม่มีคะแนนเข้ามาเกี่ยวข้อง

เป้าหมายของการดำเนินงาน

  1. ส่งเสริมให้นักศึกษารู้จักและเข้าใจตนเอง ตลอดจนเกิดความตระหนักว่า การเป็นบัณฑิตที่สมบูรณ์ควรได้รับการพัฒนารอบด้าน ทั้งด้านร่างกาย จิตใจ สังคม สติปัญญา บุคลิกภาพ และพัฒนาภาวะสู่ความเป็นผู้ใหญ่ที่สมบูรณ์มากขึ้น
  2. ให้นักศึกษาได้มีประสบการณ์ด้านการทำงานเป็นหมู่คณะ ความสามารถในการแสดงและแลกเปลี่ยนความคิดเห็น เรียนรู้ที่จะเข้าใจและยอมรับผู้อื่น พัฒนาความเป็นผู้นำและฝึกหัดการทำงานอย่างเป็นระบบ ฝึกการคิดและตัดสินใจอย่างมีเหตุผล
  3. ให้นักศึกษาสามารถปรับตัวกับการเรียนการสอนและสิ่งแวดล้อมต่าง ๆ ในสถาบัน นอกจากนั้นอาจเป็นหนทางในการช่วยผ่อนคลายความตึงเครียดจากการศึกษาเล่าเรียนได้ด้วย
  4. ให้นักศึกษามีบุคลิกภาพที่ดี มีความประพฤติที่ดีงาม มีความเป็นไทยและภาคภูมิใจในความมีเอกลักษณ์ของชาติ ชื่นชมในศิลปวัฒนธรรมไทย ตลอดจนประพฤติตนเป็นบุคคลที่เป็นประโยชน์ เป็นที่ต้องการของสังคม

ผลลัพธ์การเรียนรู้

  1. นักศึกษาสามารถปรับตัวและบริหารจัดการตนเองได้ในช่วงเปลี่ยนผ่านสู่การเป็นนักศึกษาในสถาบันอุดมศึกษา
  2. นักศึกษามองเห็นเส้นทางอาชีพที่ตนศึกษา และวางแผนพัฒนาตนเองเพื่อสร้างโอกาสในการประกอบอาชีพในอนาคต
  3. นักศึกษามีทักษะการเป็นผู้ประกอบการสามารถสร้างงานด้วยตนเองได้ในอนาคต
  4. นักศึกษามีบุคลิกภาพและภาวะผู้นำที่สามารถนำไปใช้ในการทำงาน
  5. นักศึกษามีทักษะการหางานที่เพียงพอ และมีความมั่นใจในการหางานทำ ภายหลังจากสำเร็จการศึกษา

(ที่มา: สำนักส่งเสริมและพัฒนาศักยภาพนักศึกษา สำนักงานปลัดกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วัจัยและนวัตกรรม. 2563: 48-49) 

วินัยนักศึกษา

งานวิจัยและส่งเสริมวินัยนักศึกษา

วิจัยและส่งเสริมวินัยนักศึกษา มีหน้าที่ในการศึกษาวิจัย รวมรวมข้อมูลในบริบทของการส่งเสริมพัฒนาวินัยนักศึกษา และคุณภาพชีวิตนักศึกษา และมีหน้าที่ส่งเสริมและสนับสนุนให้นักศึกษามีวินัย รู้จักหน้าที่ความรับผิดชอบของตนในขณะเดียวกัน ต้องเคารพและไม่ละเมิดสิทธิของผู้อื่น แสดงออกอย่างเหมาะสมกับสังคมในปัจจุบันมีความหลากหลายทางวัฒนธรรม พร้อมทั้งสามารถดูแลตนเองได้อย่างปลอดภัยไม่เข้าไปยุ่งเกี่ยวกับสิ่งอัน ไม่พึงประสงค์ เช่น สิ่งเสพติด การพนันและอบายมุข ผ่านทางข้อบังคับ ระเบียบ ประกาศต่างๆของมหาวิทยาลัย โดยมีการดำเนินงานอย่างมีกระบวน ขั้นตอนชัดเจน อยู่บนพื้นฐานของความเป็นธรรมและเสมอภาคเท่าเทียม

 ข้อบังคับมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี ว่าด้วย วินัยนักศึกษา พ.ศ. 2546

          วินัยนักศึกษา

  1. นักศึกษาต้องปฏิบัติตามกฎ ระเบียบ ข้อบังคับ ประกาศ และคำสั่งมหาวิทยาลัย คณะ  สำนัก และหน่วยงานอื่นภายในมหาวิทยาลัยโดยเคร่งครัด       
  2. นักศึกษาต้องปฏิบัติตามข้อกำหนดด้านคุณธรรม จริยธรรม จรรยาบรรณในวิชาชีพ ไม่ทุจริตทางวิชาการ ไม่แสวงหาผลประโยชน์อันไม่ชอบธรรมด้านวิชาการโดยเคร่งครัด  ผู้ใดฝ่าฝืนถือว่าผู้นั้นกระทำผิดวินัยนักศึกษา
  3. นักศึกษาต้องแต่งกายสุภาพตามระเบียบ และข้อบังคับที่มหาวิทยาลัยกำหนด
  4. นักศึกษาต้องสุภาพเรียบร้อย ต้องเชื่อฟังและปฏิบัติตามคำสั่ง  หรือคำแนะนำตักเตือนของอาจารย์  และเจ้าหน้าที่ของมหาวิทยาลัยผู้ปฏิบัติหน้าที่โดยชอบ
  5. นักศึกษาต้องแสดงบัตรประจำตัวนักศึกษาได้ทันที เมื่ออาจารย์  เจ้าหน้าที่ของมหาวิทยาลัยขอตรวจสอบ  เมื่อมีเหตุอันสมควร
  6. นักศึกษาต้องแสดงบัตรประจำตัวนักศึกษาได้ทันที เมื่ออาจารย์  เจ้าหน้าที่ของมหาวิทยาลัยขอตรวจสอบ  เมื่อมีเหตุอันสมควร
  7. นักศึกษาต้องปฏิบัติตามศีลธรรม วัฒนธรรมอันดีงามของสังคมไทย  ไม่นำขนบธรรมเนียมหรือวิธีการอันไม่เหมาะสมมาปฏิบัติ  ไม่ว่าภายในหรือภายนอกมหาวิทยาลัย
  8. นักศึกษาต้องประพฤติตนเป็นสุภาพชน มีความประพฤติเรียบร้อย  รักษาเกียรติและศักดิ์ของตนเอง  และรักษาชื่อเสียง เกียรติคุณและประโยชน์ของมหาวิทยาลัย
  9. นักศึกษาต้องไม่เขียนหรือพิมพ์ข้อความ หรือจัดทำสิ่งพิมพ์ สิ่งวาดในสื่อใดๆออกเผยแพร่อันทำให้ผู้อื่นเสียหาย
  10. นักศึกษาต้องมีความซื่อสัตย์สุจริต ไม่รายงานเท็จ หรือ แจ้งความเท็จ ปลอมแปลงเอกสาร หรือปลอมลายมือชื่อของผู้อื่น
  11. นักศึกษาต้องไม่สูบบุหรี่ในขณะที่มีการเรียน การสอน การปฏิบัติการ  การสอบ  หรือในบริเวณเขตปลอดบุหรี่ตามที่กฎหมาย  และหรือมหาวิทยาลัยกำหนดในบริเวณมหาวิทยาลัย
  12. นักศึกษาต้องไม่เล่นหรือมีส่วนเกี่ยวข้อง หรือสนับสนุนการพนันทุกชนิด
  13. นักศึกษาต้องไม่เป็นผู้นำสุราหรือสิ่งมึนเมาใดๆ เข้ามาในบริเวณมหาวิทยาลัย และต้องไม่เสพสุรา  หรือสิ่งมึนเมาใดๆ จนเป็นเหตุให้เสื่อมเสียแก่ตนเองและมหาวิทยาลัย
  14. นักศึกษาต้องไม่เสพสารเสพติด หรือมีสารเสพติดไว้ในครอบครอง
  15. นักศึกษาต้องไม่นำสิ่งผิดกฎหมายเข้ามาในบริเวณมหาวิทยาลัย หรือมีสิ่งผิดกฎหมายไว้ในครอบครอง
  16. นักศึกษาต้องรักษาความสงบเรียบร้อย ไม่เป็นตัวการยุยง  และก่อเหตุไม่สงบในมหาวิทยาลัย  หรือไม่ทะเลาะวิวาทระหว่างนักศึกษาของมหาวิทยาลัย  กับนักศึกษาต่างสถาบัน หรือผู้อื่น
  17. นักศึกษาต้องไม่กระทำตนให้เป็นผู้มีหนี้สินล้นพ้นตัว จนเกิดความเสียหายแก่ผู้อื่น  หรือมหาวิทยาลัย
  18. นักศึกษาต้องไม่กระทำความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา หรือกระทำการทุจริตใดๆ อันเป็นการเสื่อมเสียแก่มหาวิทยาลัย

การกระทำต่อไปนี้ถือเป็นความผิดวินัยนักศึกษาอย่างร้ายแรง

  1. 1. จงใจหรือเจตนาทำให้ทรัพย์สินมหาวิทยาลัยหรือของผู้อื่นเสียหาย
  2. 2. กระทำการทุจริตลักทรัพย์ ฉ้อโกง ยักยอกทรัพย์  หรือกระทำการอื่นใด  อันเป็นเหตุให้เกิดความเสียหาย  หรือเสื่อมเสียแก่มหาวิทยาลัยอย่างร้ายแรง
  3. 3.  ทะเลาะวิวาท เป็นเหตุให้มีผู้ได้รับอันตรายสาหัส หรือถึงแก่ความตาย หรือเป็นเหตุให้เสื่อมเสียต่อชื่อเสียงของมหาวิทยาลัย
  4. 4.  รายงานเท็จ แจ้งความเท็จ ปลอมแปลงเอกสาร  หรือปลอมลายมือชื่อคนอื่น
  5. 5. เป็นตัวการ ผู้ใช้ ผู้สนับสนุน  ให้เกิดความวุ่นวายขึ้นในมหาวิทยาลัย  หรือก่อให้เกิดการแตกสามัคคีระหว่างนักศึกษา
  6. 6.  กระทำการใดทั้งภายในภายนอกมหาวิทยาลัย

    6.1  เล่นการพนัน  สนับสนุน  หรือมีส่วนเกี่ยวข้องกับการพนัน

    6.2  พกพาอาวุธ  วัตถุระเบิด

    6.3  เสพยาเสพติดหรือสารเสพติด

    6.4  เมาสุราอาละวาด

              6.5  มีสิ่งผิดกฎหมายไว้ในครอบครอง

  1. 7. กระทำความผิดอาญาจนได้รับโทษจำคุก หรือโทษที่หนักกว่าโทษจำคุก โดยมีคำพิพากษาถึงที่สุดให้จำคุกโดยไม่คำนึงถึงว่าจะมีการรอลงโทษหรือรอกำหนดโทษ  เว้นแต่เป็นโทษที่กระทำโดยประมาท  หรือความผิดลหุโทษ
  2. 8. กระทำการใดอันได้ชื่อว่าเป็นผู้ประพฤติชั่วอย่างร้ายแรง
  3. 9. กระทำการพิจารณาความผิด และหรือลงโทษนักศึกษาด้วยตนเอง

โทษทางวินัยมี 7 สถาน ดังนี้

  1. ตักเตือนด้วยวาจา หรือเป็นลายลักษณ์อักษร
  2. ภาคทัณฑ์
  3. ตัดคะแนนความประพฤติ
  4. ตัดสิทธิ์เข้าสอบ
  5. ให้พักการศึกษา
  6. ยับยั้งการอนุมัติให้ปริญญา
  7. ให้พ้นสภาพการเป็นนักศึกษา

การอุทธรณ์ 

  1. นักศึกษาผู้ใดถูกสั่งลงโทษตามข้อบังคับนี้มีสิทธิอุทธรณ์ได้เฉพาะโทษผิดวินัยอย่างร้ายแรงตาม
  2. ให้อุทธรณ์ภายใน 30 วัน นับแต่วันทราบคำสั่งลงโทษ
  3. การอุทธรณ์ให้ทำเป็นหนังสือลงลายมือชื่อผู้อุทธรณ์ และให้การอุทธรณ์ได้สำหรับตนเองเท่านั้น  จะอุทธรณ์แทนคนอื่น หรือมอบหมายให้คนอื่นอุทธรณ์แทนไม่ได้
  4. ให้ยื่นหนังสืออุทธรณ์ผ่านอาจารย์ที่ปรึกษาชั้นปี หรือผู้ที่ได้รับมอบหมาย  และให้สั่งหนังสืออุทธรณ์ต่อไปยังคณะกรรมการวินัยนักศึกษาภายใน 3 วันทำการนับจากวันได้รับหนังสืออุทธรณ์
  5. ให้คณะกรรมการอุทธรณ์วินัยนักศึกษา พิจารณาอุทธรณ์ให้แล้วเสร็จภายใน 15 วัน  นับแต่วันได้รับหนังสืออุทธรณ์  และเสนอความเห็นต่ออธิการบดี  ให้อธิการบดีสั่งการภายใน 15 วัน  นับแต่วันที่ได้รับรายงานจากคณะกรรมการอุทธรณ์วินัยนักศึกษา